วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ผลไม้เพื่อสุขภาพ - กล้วยหอม

กล้วยหอม

กล้วยหอมเป็นผลไม้เมืองร้อน พบได้ทางตอนใต้ของประเทศจีน เช่น มณฑลฝูเจี้ยน กวางตุ้ง ยูนนาน เป็นต้น กล้วยหอมสุกมีส่วนประกอบของแป้งร้อยละ ๐.๕ โปรตีนร้อยละ ๑.๓  ไขมันร้อยละ ๐.๖ น้ำตาลร้อยละ ๑๑  นอกจากนี้ ยังมีวิตามิน เอ บี ซี อี แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก รวมถึง 5-ไฮดร็อกซีทริปทามีน (5-hydroxytryptamin) นอร์อะดรีนาลิน (noradrenaline) โดพามีน (dopamine) ในปริมาณเล็กน้อย
กล้วยหอมในทัศนะแพทย์แผนจีน
กล้วยหอมมีรสหวาน ฝาดเล็กน้อย รสเย็นมาก เข้าเส้นลมปราณ ปอด และลำไส้ใหญ่

สรรพคุณ
๑. เนื่องจากฤทธิ์เย็น และเข้าเส้นลมปราณปอด จึงมีการนำกล้วยหอมมาใช้รักษาโรคร้อน กระหายน้ำ (การถ่ายทอดสดกีฬาเทนนิสจากต่างประเทศ มีนักกีฬาระดับโลกหลายคนช่วงพักระหว่างการแข่งขันหยิบกล้วยหอมขึ้นมากิน) แผลอักเสบ บวม แก้เมาเหล้า ไอเรื้อรังเนื่องจากแห้ง
๒. เข้าเส้นลมปราณลำไส้ใหญ่ ทำให้ลำไส้ใหญ่ไม่แห้ง แก้ท้องผูก ถ่ายเป็นเลือด
๓. กล้วยที่ไม่สุกมีสารธรรมชาติบางอย่างในการป้องกันแผลกระเพาะอาหาร ช่วยทำให้เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารแบ่งตัวดีขึ้น ซ่อมแซมแผลที่อักเสบได้เร็วขึ้น ช่วยกระจายการเกาะตัวของเลือด
ตำรับอาหารสมุนไพรกล้วยหอม
๑. ซุปกล้วยหอมข้น
กล้วยหอม ๔๐๐ กรัม นมวัว ๕๐๐ กรัม น้ำตาลทรายขาว ๑๐๐ กรัม แป้งเผือก ๑๕ กรัม
เตรียมกล้วยหอมหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แป้งเผือกผสมน้ำพอประมาณ เทน้ำนมวัวใส่ในหม้อ ใส่น้ำเล็กน้อย  ต้มจนเดือด จากนั้นใส่กล้วย น้ำตาล รอจนน้ำเดือดค่อย ใส่แป้งเผือกลงไป ต้มจนเป็นซุปข้น

สรรพคุณ
  • ขับร้อน
  • หล่อลื่นลำไส้ ทำให้ลำไส้ไม่แห้ง
  • แก้ปอดแห้ง
  • ไอเรื้อรัง
  • ระบบการย่อยไม่ดี
  • แผลกระเพาะอาหาร
  • ท้องผูก
๒. กล้วยหอมตุ๋นน้ำตาลทรายกรวดกล้วยหอม ๒ ใบ เอาเปลือกออก ใช้น้ำตาลทรายกรวดปริมาณพอเหมาะ ใส่ในภาชนะที่จะตุ๋น แล้วใส่น้ำโดยรอบภาชนะ ปิดฝาตุ๋นกินวันละ ๑-๒ ครั้ง กินติดต่อกันหลายวัน

สรรพคุณ
  • ช่วยทำให้ปอดไม่แห้ง
  • แก้ท้องผูก
  • แก้ร้อนใน
  • ไอเรื้อรัง
  • แก้ริดสีดวงทวาร
๓. ตำรับยาระบายอย่างง่าย-แก้ริดสีดวงทวาร
- กล้วยหอม ๒ ลูก ไม่ต้องเอาเปลือกออก นำมาตุ๋นจนสุก กินทั้งเปลือก รักษาอาการถ่ายเป็นเลือด ริดสีดวงทวาร
- ตื่นนอน ท้องว่าง กินกล้วยหอมวันละ ๑-๒ ลูก รักษาท้องผูก เนื่องจากลำไส้แห้ง
- เปลือกกล้วยหอม ๓ ผล ซานจา ต้มน้ำดื่ม รักษาอาการกระหายน้ำ และคอแห้ง
- กล้วยหอมจุ่มน้ำผึ้ง กินตอนเช้า และกลางคืน ครั้งละ ๑ ลูก รักษาอาการท้องผูก
- กินกล้วยหอมวันละ ๓ ครั้ง ครั้งละ ๑-๒ ลูก รักษาภาวะความดันเลือดสูง
ข้อควรระวัง
การกินกล้วยหอม มีข้อควรระวัง ดังนี้
๑. ในรายที่ต้องการใช้รักษาอาการถ่ายเป็นเลือด ริดสีดวงทวาร ควรใช้ตุ๋นกล้วยหอมทั้งเปลือก
๒. ไม่ควรกินมากเกินขนาด เพราะมีฤทธิ์เย็น คนที่มีระบบการย่อยไม่ดี ท้องอืด มีลมในท้องมาก มีเสมหะมากเนื่องจากม้ามพร่องไม่ควรกิน เพราะจะทำให้อาการกำเริบมากขึ้น
๓. ต้องคำนึงอยู่เสมอว่า อาการหรือสมุนไพรใดๆ ไม่ควรกินติดต่อกันนานๆ ขึ้นกับสภาพร่างกายของแต่ละคน

ขอขอบพระคุณ นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล (ผู้เขียน) และนิตยสารมูลนิธิหมอชาวบ้าน ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ

วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ผลไม้เพื่อสุขภาพ - มะเฟือง

มะเฟือง
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Averrhoa carambola L.  ,วงศ์ Oxalidaceae 
 
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษคือ Carambola, Star Fruit หรือ Star Apple

มะเฟืองเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลักษณะเป็นทรงพุ่ม มีทั้งลักษณะตั้งตรงและกึ่งเลื้อย เป็นไม้เนื้ออ่อน โตช้า สูงไม่เกิน 30 ฟุต แกนกลางมีไส้คล้ายฟองน้ำสีแดงอ่อน ลำต้นสีน้ำตาล เปลือกลำต้นไม่เรียบ
 
ใบเป็นใบประกอบ รูปใบมนรี ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ก้านใบสั้น ใบด้านบนเรียบด้านล่างมีขนบาง ใบย่อยที่ปลายก้านมักใหญ่ ใบเรียงตัวแบบเกลียว

ดอกมะเฟืองออกตามซอกใบเป็นช่อสั้นๆ มีสีชมพูอ่อนไปจนถึงเกือบแดงตรงกลางหลอดดอกมีสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ ปลายกลีบโค้งงอ โคนกลีบดอกจะมีสีเข้มกว่าปลายกลีบ ดอกมีกลิ่นหอม

ผลอวบน้ำมีรูปร่างแปลก ยาวได้ถึง 5 นิ้ว ผลหยักเว้าเป็นร่องลึก 5 ร่อง ผลอ่อนสีเขียว สุกแล้วมีสีเหลืองใส เปลือกผลบางเรียบมันรับประทานได้ เวลาหั่นขวางจะเป็นรูปดาวสวยงาม  มีเมล็ดรีสีน้ำตาล สามารถกินได้ทั้งผลสุกและผลอ่อน
 
เชื่อว่ามะเฟืองมีถิ่นกำเนิดแถบศรีลังกาและมะละกา เป็นไม้พื้นเมืองแถบอินโดนีเซีย อินเดีย และศรีลังกา นิยมปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบางส่วนของเอเชียตะวันออก
นอกจากนี้ ยังพบมะเฟืองปลูกที่สาธารณรัฐโดมินิกัน บราซิล เปรู กานา กายานา ซามัว ตองกา ไต้หวัน French Polynesia คอสตาริกา และ ออสเตรเลีย
ที่ฟลอริดาตอนใต้และฮาวาย สหรัฐอเมริกา มีแหล่งเพาะปลูกมะเฟืองเชิงพาณิชย์
พบว่าประเทศมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกมะเฟืองรายใหญ่ที่สุดของโลก

 
สายพันธุ์มะเฟือง
ต้นมะเฟืองมีรูปทรงสวยงาม ปลูกเป็นไม้ประดับก็ได้ หรือปลูกเป็นไม้เก็บผลก็ดี
ประเทศไทยปลูกมะเฟืองกันหลายสายพันธุ์ ได้แก่
* มะเฟืองเปรี้ยว เป็นพันธุ์ดั้งเดิมของประเทศไทย มีทั้งชนิดผลใหญ่และเล็ก
* มะเฟืองพันธุ์ไต้หวัน ขนาดผลใหญ่พอประมาณ กลีบผลบาง ขอบบิด มีรสหวาน
* มะเฟืองพันธุ์กวางตุ้ง มีสีขาวนวล ขอบกลีบผลสีเขียว มีรสหวาน
* มะเฟืองพันธุ์มาเลเซีย ผลมีขนาดใหญ่ เนื้อฉ่ำน้ำ น้ำหนักมาก มีรสหวานอมเปรี้ยว
มะเฟืองสามารถกินเป็นผลไม้ก็ได้ ปรุงเป็นกับข้าวก็ดี
การกินมะเฟืองของคนไทยมีหลายรูปแบบ เช่น กินผลมะเฟืองสด ใช้เป็นเครื่องเคียงอาหาร (เครื่องเคียงแหนมเนือง) หรือจะแปรรูปเป็นน้ำผลไม้

ใบอ่อนของมะเฟืองกินเป็นผักได้
ที่ต่างประเทศนำมะเฟืองมาปรุงอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิด พบทั้งเป็นส่วนประกอบในสลัดกุ้งก้ามกราม เป็นเครื่องเคียงอาหารเนื้อสัตว์ (ปลา หมู ไก่) ใช้แทนสับปะรดในอาหารจำพวกผัดผัก และเมนูอาหารอบ ปรุงผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ เช่น ทำแยม ทาร์ตและเค้ก และพบในเครื่องดื่มต่างๆ

สรรพคุณทางยาภูมิปัญญาไทยมีการใช้มะเฟืองสืบทอดกันมา ดังนี้

ผลมะเฟือง ดับกระหาย แก้ร้อนใน ลดความร้อนภายในร่างกาย บรรเทาอาการของนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ขับเสมหะ ใช้ขจัดรังแค บำรุงเส้นผม ช่วยให้เลือดแข็งตัวง่าย ช่วยระงับความฟุ้งซ่าน ช่วยให้หลับง่ายขึ้น และบรรเทาอาการเลือดออกตามไรฟัน

ใบและราก ปรุงกินเป็นยาดับพิษร้อน แก้ไข้ ใบสดตำใช้พอกตุ่มอีสุกอีใสและกลากเกลื้อน
ใบต้มน้ำอาบแก้ตุ่มคัน

ใบอ่อนและรากมะพร้าว ผสมรวมกันต้มดื่มแก้ไข้หวัดใหญ่

แก่นและราก ต้มกินแก้ท้องร่วง แก้เส้นเอ็นอักเสบ
 
ข้อควรระวัง
มะเฟืองมีกรดออกซาลิกสูง ผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตไม่ควรกินมะเฟืองเพราะจะเกิดอาการข้างเคียงและเจ็บป่วยมากได้ นอกจากนี้แล้วมะเฟืองมีฤทธิ์ต้านการทำงานของเอนไซม์ไซโทโครม พี 450 ซึ่งมีหน้าที่ในการกำจัดยาหลายชนิด เชื่อว่าโพรไซยาไนดินบี 1 และบี 2 และ/หรือโมเลกุล 3 ซึ่งประกอบด้วยคาทีชินและ/หรืออีพิคาทีชินเป็นสารที่ออกฤทธิ์ดังกล่าว ผู้ป่วยที่กินยาลดไขมันและยาคลายเครียดตามคำแนะนำแพทย์จึงไม่ควรบริโภคมะเฟือง


ประโยชน์ต่อสุขภาพ
มะเฟืองมีคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชันสูง มีสารกลุ่มโพลีฟีนอลซึ่งมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันมาก สารสำคัญในกลุ่มนี้ที่พบในมะเฟือง ได้แก่ กรดแอสคอบิก อีพิคาทีชิน และกรดแกลลิกในรูปของแกลโลแทนนิน

สารสำคัญที่แสดงฤทธิ์ต้านออกซิเดชันจากมะเฟือง คือ โพรแอนโทไซยาไนดินในรูปของโมเลกุลคู่ โมเลกุล 3 4 5  (dimers, trimers, tetramers and pentamers) ของคาทีชินหรืออีพิคาทีชิน
นอกจากนี้ มะเฟืองมีวิตามินซีมาก บรรเทาโรคเลือดออกตามไรฟัน มะเฟืองมีปริมาณพลังงาน น้ำตาลและเกลือโซเดียมต่ำ เหมาะกับการกินเพื่อควบคุมน้ำหนัก คุมน้ำตาลในเลือด หรือลดความอ้วน มีกรดผลไม้มาก ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางชำระล้างผิวกายและป้องกันการเกิดสิว

ฤทธิ์ลดน้ำตาลและสร้างไกลโคเจน
งานวิจัยจากประเทศบราซิลในปีนี้พบว่าอนุพันธ์กลูโคไพแรนโนไซด์ของเอพิจีนิน (apigenin-6-C-beta-l-fucopyranoside) ที่ได้จากผลมะเฟืองมีผลทันทีในการลดน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน ไกลโคไซด์ดังกล่าวกระตุ้นการหลั่งอินซูลินชนิดที่ถูกกระตุ้นโดยกลูโคส และมีผลในการสังเคราะห์ไกลโคเจนในกล้ามเนื้อ soleus
ผลในการสังเคราะห์ไกลโคเจนในกล้ามเนื้อถูกยับยั้ง เมื่อมีการใช้สารยับยั้งการส่งผ่านสัญญาณสู่อินซูลิน (insulin signal transduction inhibitor) ฟลาโวนอยด์จากมะเฟืองจึงมีฤทธิ์เป็นทั้ง antihyperglycemic (insulin secretion) และ insulinomimetic (glycogen synthesis)

 เส้นใยอาหารจากมะเฟือง
งานวิจัยจากไต้หวันพบว่าเนื้อผลของมะเฟืองมีปริมาณเส้นใยไม่ละลายน้ำสูง ส่วนใหญ่เป็นเพ็กทินและเฮมิเซลลูโลส เส้นใยเหล่านี้มีค่าทางเคมีและกายภาพ ได้แก่ ค่าการอุ้มน้ำ คุณสมบัติในการบวม การแลกเปลี่ยนสารมีประจุ สูงกว่าค่าที่ได้จากเซลลูโลส ปัจจัยดังกล่าวทำให้เส้นใยมะเฟืองมีความสามารถในการดูดซับกลูโคส และลดการทำงานของเอนไซม์อะไมเลส จึงน่าจะช่วยคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดหลังอาหารได้
งานวิจัยดังกล่าวจึงแนะนำให้ใช้เส้นใยจากผลมะเฟืองเป็นสารพลังงานต่ำที่ทำให้อิ่มเร็ว ใช้กินโดยตรงหรือเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็ได้ 

จึงขอแนะนำผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักให้เลือกกินมะเฟืองผลไม้อุดมค่าชนิดนี้
คนที่มีสุขภาพดีอยู่แล้วก็น่าจะเพิ่มคุณค่าของมะเฟืองเป็นรายการผลไม้ประจำวันได้เพราะมะเฟืองให้ผลตลอดปี