กล้วยหอมเป็นผลไม้เมืองร้อน พบได้ทางตอนใต้ของประเทศจีน เช่น มณฑลฝูเจี้ยน กวางตุ้ง ยูนนาน เป็นต้น กล้วยหอมสุกมีส่วนประกอบของแป้งร้อยละ ๐.๕ โปรตีนร้อยละ ๑.๓ ไขมันร้อยละ ๐.๖ น้ำตาลร้อยละ ๑๑ นอกจากนี้ ยังมีวิตามิน เอ บี ซี อี แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก รวมถึง 5-ไฮดร็อกซีทริปทามีน (5-hydroxytryptamin) นอร์อะดรีนาลิน (noradrenaline) โดพามีน (dopamine) ในปริมาณเล็กน้อย
กล้วยหอมในทัศนะแพทย์แผนจีน
กล้วยหอมมีรสหวาน ฝาดเล็กน้อย รสเย็นมาก เข้าเส้นลมปราณ ปอด และลำไส้ใหญ่
สรรพคุณ
๑. เนื่องจากฤทธิ์เย็น และเข้าเส้นลมปราณปอด จึงมีการนำกล้วยหอมมาใช้รักษาโรคร้อน กระหายน้ำ (การถ่ายทอดสดกีฬาเทนนิสจากต่างประเทศ มีนักกีฬาระดับโลกหลายคนช่วงพักระหว่างการแข่งขันหยิบกล้วยหอมขึ้นมากิน) แผลอักเสบ บวม แก้เมาเหล้า ไอเรื้อรังเนื่องจากแห้ง
๒. เข้าเส้นลมปราณลำไส้ใหญ่ ทำให้ลำไส้ใหญ่ไม่แห้ง แก้ท้องผูก ถ่ายเป็นเลือด
๓. กล้วยที่ไม่สุกมีสารธรรมชาติบางอย่างในการป้องกันแผลกระเพาะอาหาร ช่วยทำให้เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารแบ่งตัวดีขึ้น ซ่อมแซมแผลที่อักเสบได้เร็วขึ้น ช่วยกระจายการเกาะตัวของเลือด
ตำรับอาหารสมุนไพรกล้วยหอม
๑. ซุปกล้วยหอมข้น
กล้วยหอม ๔๐๐ กรัม นมวัว ๕๐๐ กรัม น้ำตาลทรายขาว ๑๐๐ กรัม แป้งเผือก ๑๕ กรัม
เตรียมกล้วยหอมหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แป้งเผือกผสมน้ำพอประมาณ เทน้ำนมวัวใส่ในหม้อ ใส่น้ำเล็กน้อย ต้มจนเดือด จากนั้นใส่กล้วย น้ำตาล รอจนน้ำเดือดค่อย ใส่แป้งเผือกลงไป ต้มจนเป็นซุปข้น
สรรพคุณ
- ขับร้อน
- หล่อลื่นลำไส้ ทำให้ลำไส้ไม่แห้ง
- แก้ปอดแห้ง
- ไอเรื้อรัง
- ระบบการย่อยไม่ดี
- แผลกระเพาะอาหาร
- ท้องผูก
สรรพคุณ
- ช่วยทำให้ปอดไม่แห้ง
- แก้ท้องผูก
- แก้ร้อนใน
- ไอเรื้อรัง
- แก้ริดสีดวงทวาร
- กล้วยหอม ๒ ลูก ไม่ต้องเอาเปลือกออก นำมาตุ๋นจนสุก กินทั้งเปลือก รักษาอาการถ่ายเป็นเลือด ริดสีดวงทวาร
- ตื่นนอน ท้องว่าง กินกล้วยหอมวันละ ๑-๒ ลูก รักษาท้องผูก เนื่องจากลำไส้แห้ง
- เปลือกกล้วยหอม ๓ ผล ซานจา ต้มน้ำดื่ม รักษาอาการกระหายน้ำ และคอแห้ง
- กล้วยหอมจุ่มน้ำผึ้ง กินตอนเช้า และกลางคืน ครั้งละ ๑ ลูก รักษาอาการท้องผูก
- กินกล้วยหอมวันละ ๓ ครั้ง ครั้งละ ๑-๒ ลูก รักษาภาวะความดันเลือดสูง
ข้อควรระวัง
การกินกล้วยหอม มีข้อควรระวัง ดังนี้
๑. ในรายที่ต้องการใช้รักษาอาการถ่ายเป็นเลือด ริดสีดวงทวาร ควรใช้ตุ๋นกล้วยหอมทั้งเปลือก
๒. ไม่ควรกินมากเกินขนาด เพราะมีฤทธิ์เย็น คนที่มีระบบการย่อยไม่ดี ท้องอืด มีลมในท้องมาก มีเสมหะมากเนื่องจากม้ามพร่องไม่ควรกิน เพราะจะทำให้อาการกำเริบมากขึ้น
๓. ต้องคำนึงอยู่เสมอว่า อาการหรือสมุนไพรใดๆ ไม่ควรกินติดต่อกันนานๆ ขึ้นกับสภาพร่างกายของแต่ละคน
ขอขอบพระคุณ นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล (ผู้เขียน) และนิตยสารมูลนิธิหมอชาวบ้าน ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น